เริ่มต้นจากการ
การยืน : ให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตรง หน้าตรง หลับตา ให้สติอยู่ ที่กลางกระหม่อม สำรวมจิต เอาสติตาม วาดมโนภาพร่างกายคำว่ายืน จากศรีษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอจากสะดือลงไปปลายเท้านับเป็น ๑ ครั้ง ครั้งที่สองกำหนดขึ้นคำว่ายืนจากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอจากสะดือไปกลางกระหม่อม กำหนดกลับไปกลับมาจนครอบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นสำรวมจิตอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกนอกกายแล้วลืมตาค่อยๆ ก้มหน้ามองดูปลายเท้า ให้สติจับอยู่ที่เท้าเพื่อเตรียมเดินจงกลมต่อไป
การเดิน : กำหนดว่าขวาย่างหนอ ในใจคำว่าขวา ยกส้นเท้าขวาขึ้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องพร้อมกัน ย่างก้าว เท้าขวาไปข้างหน้าอย่างช้าๆ เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่าหนอเท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน จากนั้นสำรวมจิตไว้ที่เท้าซ้ายตั้งสติปักลงไป กำหนดว่าซ้ายย่างหนอ สลับกันเช่นนี้เรื่อยๆ ไป ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เพื่อการทรงตัวขณะก้าวได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่แล้ว ให้นำท้าวมาเครียงกัน หน้าตรง หลับตา กำหนดยืนหนอช้าๆ อีก ๕ ครั้ง จากนั้นลืมตา ก้มหน้า มองดูปลายเท้า
การกลับ : กำหนดว่า กลับ......หนอ ๔ ครั้ง กลับหนอครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙o องศา ครั้งที่สอง เคลื่อนเท้าซ้ายมาชิดกับเท้าขวาครั้งที่สามทำเหมือนครั้งที่ ๑ ครั้งที่สี่ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ เมื่อครบสี่ครั้งแล้วจะอยู่ในท่ากลับหลังต่อไปกำหนด ยืนหนอช้าๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตา ก้มหน้าแล้วกำหนดเดิน ต่อไปจนหมดเวลาที่ต้องการ
การนั่ง : ให้ทำต่อจากการเดินจงกลม อย่าให้ขาดตอนเมื่อเดินจงกลมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนดยืนหนออีก ๕ ครั้งแล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า ปล่อยมือหนออๆ ช้าๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อยๆ ย่อตัวลง พร้อมกำหนดตามอารมณ์ที่ทำไปจริงๆ เช่น ย่อตัวหนอๆ ท้าวพื้นหนอๆ คุกเข่าหนอๆ นั่งหนอๆ เป็นต้น
วิธีนั่ง : ให้นั่งขัดสมาธิ คือ ขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรงหลับตา เอาสติจับอยู่ที่ท้องพอง ยุบ เวลาหายใจ ท้องพองกำหนดว่าพองหนอ หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่ายุบหนอ ใจนึกกับท้องที่พอง ยุบต้องให้ทันกัน ให้สติจับอยู่ที่การพอง ยุบของท้องเท่านั้น อยู่ดูลมที่จมูกอย่าตะเบ็งท้อง ให้รู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลัง กำหนดเช่นนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
การนอน : เวลานอนค่อยๆ เอนตัวนอน พร้อมกับกำหนดตาม ไปว่านอนหนอๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้ เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้ว ให้ตั้งสติจับที่ท้องหายใจเข้าออกยาวๆ สบายๆ ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ได้ยินอะไรกำกำหนดไปเรื่อยๆ อย่าไปเพ่งที่ท้องมาก ไม่หลับ ให้ตั้งสติไว้หายใจเรื่อยไปว่า พองหนอ ยุบหนอ จนกว่าจะหลับ เมื่อตื่นก่อนลืมตาให้กำหนดว่า ตืนหนอ กำหนดที่ท้องว่าพองหนอ ยุบหนอ ครู่หนึ่ง แล้วกำหนด ลืมตา และการลุกขึ้นนั่งต่อไป
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือ การรู้สภาพของกายในขณะนั้นว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ว่ากายจะยืน กายจะเดิน กายจะนั่ง กายจะนอน จะพักผ่อนอันใด มีสติควบคุม จิตต้องกำหนด กำหนดกายยืน กำหนดกายนั่ง กำหนดกายนอน กำหนดกายที่จะเอนลงไปต้องกำหนดทุกอิริยาบถ จะก้าวเยื้องซายและขวาไปที่ไหนกำหนดตั้งสติไว้ให้เป็นปัจจุบัน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือ สิ่งที่บังคับไม่ได้ ต้องใช้สติคอยควบคุม ได้แก่ สุขเวทนา มีทั้งสุขกาย สุขใจ ทุกเวทนาก็ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และอุเบกขาเวทนา คือ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์จิตใจเลื่อนลอยไม่มีที่เกาะ ขณะกำหนดรู้อยู่ในการเดินหรือนั่งก็ตาม กำหนดพองหนอ ยุบหนออยู่ก็ตาม เมื่อมีอาการของเวทนาดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น ให้ทิ้งกำหนด เดินนั่ง และยุบ พอง ก่อนมากำหนดรู้อยู่ที่อาการของเวทนาที่เกิดขึ้น กำหนดตรงเวทนานั้นให้มันหายไป เช่น ปวดเมื่อย เจ็บ คัน แน่น เสียด ตรงไหนก็กำหนดตรงนั้นปวดเมื่อยต้นคอ ก็เอาจิตปักลงไปที่ต้นคอที่ปวดแล้วกำหนดว่าปวดหนอ ปวดหนอ คัน ก็เอาจิตปักลงไปตรงที่คัน ตั้งสติกำหนด คันหนอ เป็นต้น ถ้าจิตเกิดอาการดีใจ เสียใจ โกรธ ขณะเดิน นั่ง หรือ กำหนดพอง ยุบให้เอาจิตปักที่ลิ้นปี่ หายใจยาวๆ จากจมูกถึงสะดือ ตั้งสติกำหนดตามสภาวะของอารมณ์ที่เป็นไปในขณะนั้น ตามจริงว่า ดีใจหนอ หรือโกรธหนอ อุเบกขาไม่สุข ไม่ทุกข์ ใจลอยหาที่เกาะไม่ได้ ให้กำหนดที่ลิ้นปี่ตั้งสติระลึกก่อน กำหนดรู้หนอ รู้หนอ เป็นต้น
เมื่อกำหนดเวทนาที่เกิดจนหาย และกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ขณะนั้นหากอยู่ในอาการใด เดิน นั่ง หรือยุบหนอ พองหนอ อยู่ก็ตาม ให้กลับมากำหนดรู้อยู่ในอาการนั้นต่อไป
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือ จิตเป็นธรรมชาติไว้รับรู้ และอ่านอารมณ์เหมือนเทปบันทึกเสียง จิตเกิดทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๑. เวลาตาเห็นรูป ให้กำหนดว่า เห็นหนอๆ ตั้งสติเอาไว้ที่ตา
๒. เวลาหูได้ยินเสียง ให้กำหนดว่า เสียงหนอๆ ตั้งสติเอาไว้ที่หู
๓. เวลาจมูกได้กลิ่น ให้กำหนดว่า กลิ่นหนอๆ ตั้งสติเอาไว้ที่จมูก
๔. เวลาลิ้นได้รส ให้กำหนดว่า รสหนอๆ ตั้งสติเอาไว้ที่ลิ้น
๕. เวลากายถูก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ให้กำหนดว่า ถูกหนอๆ
๖. เวลาจิตใจคิดถึงความโลภ โกรธ หลง ขึ้นมา เพราะกำหนดทวารทั้งห้า ข้างต้นไม่ทัน เลยเป็นอดีตไปแล้ว ให้กำหนดว่า รู้หนอๆ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่
เหตุผลที่ต้องกำหนดจิต และตั้งสติเช่นนี้ เพราะจิตของเราอยู่ใต้บังคับความโลภ ความโกรธ และความหลง เช่น หูได้ยินเสียงกำหนดไม่ทัน เลยเป็นอดีตไปแล้ว ทำให้เกิดชอบใจเป็นโลภะ ไม่ชอบใจเป็นโทสะ ถ้าไม่กำหนดหรือพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว เป็นโมหะ ตาเห็นรูป จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ก็เช่นเดียวกัน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือ การกำหนดรู้ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ได้แก่ นิวรณ์ ขันธ์ ๕ อาตยนะ โพชฌงค์ อริยสัจ ๔ รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตที่เป็น กุศล อกุศล หรืออัพยากฤต (กลางๆ) การกำหนดธรรม เมื่อเกิดความรู้สึกต่างๆ อันเป็นนิวรณธรรม เช่น การยินดี หรือความพอใจในอารมณ์ ภายนอก (กามฉันทะ) หรือความโกรธ (พยาบาท) ความฟุ่งซ่านรำคาญใจ (อุทธัจจกุกกุจจะ) หรือการง่างเหงาหาวนอน (ถีนมิธะ) หรือมีความคิดลังเล สงสัยในการปฏิบัติ(วิจิกิจฉา) เป็นไปต่างๆ เช่นนี้ ก็ให้ตั้งสติไว้ที่ลี้นปี่หายใจลึกๆ ยาวๆ กำหนดรู้อาการของจิตทันทีที่รู้ เช่น มีกามฉันทะเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่าชอบหนอ เมื่อมีความโกรธหรือพยาบาทเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่าโกรธหนอ เมื่อง่วงเหงาหาวนอน ก็กำหนดง่วงหนอ เมื่อนึกถึงสิ่งนอกกายคิดถึงบ้าน คิดถึงคนรู้จัก ก็กำหนดคิดหนอ เมื่อเกิดฟุ้งซ่านคือคิดย้ำเรื่องเดิมนั้นอยู่เรื่อยๆ ก็กำหนดฟุ้งซ่านหนอ เมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้น ก็กำหนดสงสัยหนอ เมื่อกำหนดอาการที่เป็นนิวรณธรรมที่เกิดขึ้นจนหายแล้ว ให้กลับมากำหนดที่การเดิน หรือพองยุบต่อไปตามเดิมประคองสติให้ติดต่อกันเป็นอันดี ข้อสำคัญที่สุดของ ผู้ปฏิบัติ คือ การกำหนด
ข้อควรปฏิบัติระหว่างการปฏิบัติธรรม
๑. ตัดความกังวลเกี่ยวกับครอบครัว คนรัก หน้าที่การงาน ธุรกิจ ฯลฯ
๒. อย่าโทรศัพท์
๓. อย่าอ่านหนังสือ
๔. อย่าพุดคุย
๕. อย่าไปเดินซ้อของ
๖. อย่าไปเดินสำรวจ ดูโน่นมองนี่ ต้องเดินสำรวม
๗. อย่าพะวง หรือจดจ่อกับการซื้ออาหาร ทำบุญ ตักบาตร สับสน วุ่นวาย ไม่ถูกต้อง
๘. ทรัพย์สินหรือของมีค่าไม่ควรนำติดตัวมาเป็นภาระ เป็นกังวล ทำให้ไม่มีสมาธิ
๙. พึงระลึกอยู่เสมอว่าเรามาปฏิบัติธรรม ต้องสำรวมกาย วาจา ใจ ต้องเคารพกติกาและสถานที่
๑๐. ผู้ไม่เคยปฏิบัติ หรือเพิ่งมาครั้งแรก ควรตั้งใจ ปฏิบัติ ๗ วัน มาวันโกนกลับวันโกน
ที่มา หนังสือธรรมะ หลวงพ่อจรัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น