วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การทำ Predictive Maintenance ด้วยการตรวจสอบ Vibration

    จากที่ได้กล่าวมาในบทความตอนที่แล้วเกี่ยวกับ ปัญหาการเกิด vibration ถึงบทความนี้จะขอกล่าวในส่วนของขั้นตอนและวิธีการทำ Predictive Maintenance ด้วยการตรวจสอบ Vibration  ซึ่งการทำ Predictive Maintenance หรือ PDM. สามารถใช้ทำนายหรือพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่าควรจะหยุดการเดินเครื่อง เพื่อทำการซ่อมเมื่อไร และเมื่อหยุดเดินเครื่องแล้วจะซ่อมอะไรบ้าง ต้องเตรียมคน Spare part ตรงส่วนไหนบ้าง เป็นต้น
    อย่างไรก็ตามการทำ PDM. จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงาน, ผู้ประกอบการ และผู้ควบคุมเครื่องจักร, ฝ่ายซ่อมบำรุงประจำโรงงานนั้นๆ เห็นถึงความสำคัญ และเพื่อให้เห็นถึงลำดับขั้นตอน, เครื่องมือ และวิธีการ จึงขอยกตัวอย่างให้พิจารณากันอย่างคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
1.    ขั้นตอนการทำ Predictive Maintenance
1.1         เก็บข้อมูลโดยละเอียด เพื่อเป็น Base line
1.2         เก็บข้อมูลเฉพาะจุดสำคัญเป็นระยะ
1.3         นำข้อมูลมา Plot เพื่อดูแนวโน้มความผิดปกติ
1.4         เปรียบเทียบกราฟที่ Plot ว่าเกิน Limit หรือไม่
1.5         วิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของสิ่งผิดปกติ
1.6     กำหนดช่วงเวลาทำการแก้ไขล่วงหน้า (เตรียมคน,เครื่องมือ,Spare part ต่างๆ ให้พร้อม)
1.7         เข้าทำการแก้ไขเมื่อถึงเวลาที่ได้กำหนดไว้
2.    เครื่องมือที่ต้องใช้ในการทำ Predictive Maintenance
ควรมีเครื่องตรวจวัด Vibrometer ชนิด portable (แบบไหนก็ได้) เพียงตัวเดียวก็เพียงพอแล้ว ซึ่งมื่อทำ PDM. ได้ผลดีแล้วก็สามารถจะหาเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นเพิ่มเติมได้
3.    วิธีการจดบันทึกและ Plot ค่า Vibration เพื่อทำนายหรือพยากรณ์ล่วงหน้าก่อนเกิดการเสียหาย

    อนึ่ง ของเน้นว่า PDM. นั้นมีประโยชน์มาก และไม่ยุ่งยากในการจัดทำ แต่จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานผู้ประกอบการ และผู้ควบคุมเครื่องจักร, ฝ่ายซ่อมบำรุงประจำโรงงานนั้นๆ เห็นถึงความสำคัญ และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
4.    ตัวอย่างงานที่ทำ PDM.
    ในเรื่องตัวอย่างงาน PDM. มีอยู่มากมายทั้งที่ยากและง่าย ทั้งที่ซับซ้อนและธรรมดา ในส่วนที่มักเห็นกันเป็นประจำ คือ การทำ Field balancing ของเครื่องจักร ต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ตัวไม่กี่ KW. (กิโลวัตต์) จนถึง Steam turbine ขนาดหลายร้อย MW (เมกะวัตต์)
    แต่ปัญหาของ Vibration ไม่ได้มีเพียง Unbalance เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีความผิดปกติของเครื่องจักรหลายสิบอย่างที่มีผลให้ค่า Vibration สูง ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ ชำนาญเฉพาะในการคาดการสภาพเครื่องจักรพอสมควร



วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปัญหาการเกิด vibration ของชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม


       ผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า vibration คืออะไร แล้วทำมัยต้องทำการศึกษาพิจารณา และมันมีอะไรที่หน้าสนใจ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า vibration ภาษาไทยกล่าวว่า เป็นการสั่น หรือการเคลื่อนที่กลับไป กลับมาของวัสดุ ถือเป็นการสูญเสียของพลังงานอย่างหนึ่ง
      Vibration มีสาเหตุจากปัญหาความผิดปกติด้านการสั่นของเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารถยนต์ของท่านเริ่มมีอาการสั่น และรู้สึกได้ถึงอัตราการสั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกตินั้นก็หมายความว่ารถยนต์ของท่านเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับชิ้นส่วนมาเยือน ก็เช่นเดียวกันกับ ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม อย่างโรงไฟฟ้า เช่น fan, pump, motor, และ generator ซึ่งหากเกิดการสั่นผิดปกติและเริ่มเพิ่มมากขึ้น เริ่มแสดงให้เห็นว่าชิ้นส่วนนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว แต่จะเป็นปัญหาอะไร, เริ่มเกิดขึ้นที่ส่วนไหนนั้น ต้องมีการตรวจวัดและวิเคราะห์หาสาเหตุกันต่อไป
ทำไมต้องทำการตรวจวัดค่า vibration ?
      ถ้าถามว่าทำไมต้องตรวจวัดค่า vibration นั้น ก็คงต้องอธิบายถึงประโยชน์ของการวัดและการแก้ปัญหา vibration ซึ่งหากมีการจัดทำ predictive maintenance (PDM) โดยสมบูรณ์แล้ว จะได้รับประโยชน์ดังนี้

"หมายเหตุ : Predictive Maintenance (PDM) คือ การเก็บข้อมูลจากการตรวจวัดค่าของ vibration มาเปรียบเทียบตามระยะเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้เห็นถึงเส้นกราฟแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเกิด vibration"
1.   ลดอัตราการหยุดเดินเครื่องโดยกระทันหัน
    ซึ่งจะมีรายละเอียดในเรื่องของการทำ predictive maintenance (PDM) ซึ่งจะสามารถทำให้ทราบถึงสภาพของเครื่องจักร และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะถึงจุดวิกฤต ที่จะส่งผลให้เครื่องจักรเกิดความเสียหาย, โดยสามารถทำนายได้ว่าเมื่อไรควรจะวางแผนดำเนินการบำรุงรักษาในระยะเวลาที่เหมาะสมมากที่สุด ทำให้สามารถลดอัตราการหยุดเดินเครื่องโดยกระทันหันได้
2.   ประหยัดระยะเวลาในการหยุดซ่อมบำรุง
    ในการวิเคราะห์ทาง vibration จะสามารถบอกได้ว่ามีอะไรที่ผิดปกติบ้างกับเครื่องจักรนั้นๆ และเมื่อถึงกำหนดหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุง ก็ไม่ได้มาคาดเดาให้เสียเวลาว่าจะซ่อมตรงส่วนไหน เพราะรู้อยู่ก่อนหน้าแล้วว่าส่วนไหนที่ต้องซ่อมหรือแก้ไข ฉะนั้น เมื่อหยุดเดินเครื่อง spare part และบุคลากรด้านต่างๆ ก็จะถูกเตรียมไว้ก่อนแล้ว ทำใหสามารถซ่อมบำรุงเครื่องจักรและเริ่มเดินเครื่องใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
3.   ยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร
หากทำการแก้ไขจนค่า vibration มีค่าต่ำแล้ว load ที่กระทำต่อ part ต่างๆ ของเครื่องจักรก็จะต่ำด้วย ทำให้ยืดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนต่างๆ และเครื่องจักรได้
4.   ป้องกันการเสียหายอย่างรุนแรง
     ด้วยการทำ PDM. นั้น จะทำให้สามารถตรวจจับปัญหาของเครื่องจักรได้ล่วงหน้า มำให้สามารถหยุดเดินเครื่องก่อนที่มันจะเสียหายอย่างรุนแรงได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการตรวจสอบ, ซ่อมบำรุง, เปลี่ยนอะไหล่ทดแทน และการบาดเจ็บแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งลดความเสียหายกับ plant ซึ่งมีมูลค่าอันมหาศาล
5.   ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
    เครื่องจักรที่มีปัญหานั้นจะใช้พลังงานมากกว่าเครื่องจักรที่ทำงานปกติ (ถ้าไม่เชื่อลองเข็นรถที่ยางแบนทั้ง 4 ล้อดู) อย่าง motor หรือ pump ที่ unbalance หรือ misalignment จะสูญเสียพลังงานมากกว่า motor หรือ pump ที่ balance หรือ alignment ดีแล้ว ในการใช้ vibration technique นั้น จะสามารถลดปัญหาต่างๆ ของเครื่องจักรลงได้ และทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
6.   ลดเสียงรบกวนให้น้อยลง
    โดยปกติเครื่องจักรที่สั่นมากจะมีเสียงดังกว่าเครื่องจักรที่สั่นน้อยกว่า ซึ่งหากเสียงที่เกิดขึ้นมีความดังมากๆ จะส่งผลต่อระบบการสื่อสารและการได้ยินของผู้ปฏิบัติงานได้
เพิ่มเติม
    ถ้าสภาพของเครื่องจักรนั้น ปกติค่า vibration จะคงที่ แต่ถ้าค่า vibration เพิ่มขึ้น นั้นหมายถึงว่ากำลังมีสิ่งผิดปกติเริ่มเกิดขึ้นกับเครื่องจักรแล้ว โดยที่สิ่งผิดปกติหลายสิบอย่างจะแสดงออกมาทาง vibration ที่มีค่าสูงขึ้น ซึ่งสามารถตรวจวัดหาสาเหตุได้
ในฉบับต่อไปจะนำเสนอเกี่ยวกับการทำ Predictive Maintenance ด้วยการทดสอบ Vibration รวมไปถึงตัวอย่างลำดับขั้นตอนและเครื่องมือการตรวจสอบ โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเปรียบเทียบเกรดมาตรฐานทางโลหะ


      เนื่องจากในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปโลหะมีความหลากหลายในหลายแง่มุม เช่น เกรดคุณภาพของวัสดุ แหล่งวัตถุดิบ และผู้ผลิต (ซึ่งมักจะแสดงออกมาในรูปของชื่อเฉพาะหรือทางการค้า๗ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับและสามารถใช้งานได้ทั่วโลก
      โดยทั่วไป โลหะที่ใช้ในสายการผลิตในประเทศไทยมักจะอ้างอิงตามมาตรฐานที่สำคัญจากเพียงไม่กี่ประเทศ ได้แก่ มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น (ในบางกรณีอาจใช้มาตรฐานจากประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน) เนื่องจากประเทศที่ได้กล่าวมานี้เป็นประเทศมหาอำนาจในอุตสาหกรรมการผลิตทางเครื่องจักรและโลหะกรรม ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่เหตุผลสำคัญก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตในไทยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมจากการร่วมลงทุนระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา หรือบางอุตสาหกรรมอาจใช้เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรกลจากประเทศในกลุ่มยุโรป เช่น อังกฤษ, เยอรมนี ดังนั้น จึงต้องอิงมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านั้น
      ส่วนในบางประเทศที่มีระบบอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและโลหกรรมที่ใหญ่ไม่แพ้กัน เช่น ชาติจากยุโรปตะวันออกอย่าง รัสเซีย โรมาเนีย หรือยุโรปตะวันตกอย่าง สวีเดนและฝรั่งเศส เป็นต้น แม้ว่าจะมีมาตรฐานทางอุตสาหกรรมที่มีการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย
     เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตและเครื่องจักรกลมีความหลากหลาย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำเป็นต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลือกใช้โลหะชนิดต่างๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบเข้ามาระหว่างมาตรฐานของประเทศต่างๆ ผู้ประกอบการและวิศวกรต้องเข้าใจข้อมูลทางเทคนิค และสามารถทำการตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งทราบความแตกต่างเกี่ยวกับคุณภาพของวัตถุดิบจากแต่ละประเทศ เพื่อประโยชน์ในการเลือกใช้โลหะเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผล
     ดังนั้น บทความต่อไปจะกล่าวถึงการตรวจสอบชนิดของโลหะข้ามระหว่างมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเลือกใช้โลหะได้เข้าใจและเหมาะสมตามความต้องการ ปัจจัยหลัก 2 ประการในการเปรียบเทียบชนิดของวัสดุ ได้แก่ คุณภาพและราคา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาพื้นฐานที่พบได้เสมอๆ เช่น เหตุใดวัตถุดิบที่มีมาตรฐานเปรียบเทียบตงกันจากประเทศหนึ่ง สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง และมีสมบัติดีกว่าวัตถุดิบเกรดเดียวกันที่ผลิตจากอีกประเทศหนึ่งละ ? หรือทำไมชิ้นส่วนบ้างชิ้นของเครื่องจักรจากประเทศหนึ่งจึงต้องกำหนดมาตรฐานของโลหะที่เลือกไว้สูง ทั้งที่ในการนำไปใช้งานจริง ผู้ใช้สามารถปรับลดข้อกำหนดลงได้ ซึ่งจะช่วยลดต้อนทุนการผลิตลงได้อย่างมาก ? เป็นต้น
     การเลือกใช้วัตถุดิบตามมาตรฐานทางโลหะของประเทศต่างๆ ที่ควรทราบนั้นจะระบุการอ่านมาตรฐานออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มมาตรฐานที่ระบุโดยจำแนกส่วนผสมทางเคมีและสมบัติบางประการเพื่อการนำไปใช้งาน และกลุ่มมาตรฐานที่ระบุโดยรูปแบบการนำไปใช้ในขบวนการขึ้นรูปหรือสภาวะบางประการ
การจำแนกแบบที่ 1 คือ แบ่งกลุ่มวัสดุตามส่วนผสมทางเคมีเป็นหลัก ได้แก่
-         มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา กำหนดด้วยอักษรย่อ UNS (Unified Numbering System Standard) หรือ ANSI (American National Standard Institute) หรือ AISI (American Iron and Steel Institute) หรือ SAE (Society of Automotive Engineers) นำหน้าตัวเลขทั้งหมด ซึ่งจะระบุกลุ่มของโลหะผสมหรือปริมาณธาตุผสมเป็นหลัก
-         มาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่น กำหนดด้วยอักษรย่อ SKD (เหล็กกล้าเครื่องมือ) หรือ SUS (เหล็กกล้าไร้สนิม) หรือ SC (เหล็กกล้าคาร์บอนผสมโครเมียม) นำหน้า เป็นต้น
-         มาตรฐานจากประเทศเยอรมนี กำหนดอักษรย่อตามส่วนผสมทางเคมี เช่น CrMo หมายถึง มีโครเมียมและโมลิบดีนัมผสม หรือมีอักษร X นำหน้า หมายถึงโลหะในกลุ่มที่ไม่เกิดสนิม เป็นต้น
การจำแนกแบบที่ 2 คือ แบ่งกลุ่มตามรูปแบบการนำไปใช้ หรือกระบวนการขึ้นรูปที่เหมาะสมเป็นหลัก ได้แก่
-         มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา กำหนดด้วยอักษรย่อ ASTM (American Society for Testing and Materials) นำหน้า ซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรฐานการนำไปใช้และการทดสอบในมาตรฐาน ASTM หนึ่งกลุ่ม สามารถระบุชนิดโลหะที่เหมาะสมได้ตรงตามสัญลักษณ์ SAE หรือ AISI ได้ต่อไป
-         มาตรฐานจากญี่ปุ่น กำหนดด้วยอักษรย่อ JIS (Japanese Industrial Standards) นำหน้าโดยในกลุ่มของ JIS จะจำแนกชนิดโลหะตามส่วนผสมทางเคมีเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับสัญลักษณ์ SKD หรือ SCM ที่เหมาะสมต่อไป
-         มาตรฐานของเยอรมนี กำหนดด้วยอักษร DIN นำหน้า จะต่างจากมาตรฐานของอเมริกาและญี่ปุ่น คือหมายเลข DIN (Deutsche Industrie Normen หรือ German Industrial Standards) จะกำหนดชนิดโลหะที่มีการใช้งานและส่วนผสมทางเคมีโดยเฉพาะเพียงชนิดเดียว เทียบเท่าการกำหนดชนิดโลหะ ต่างกันเพียงที่หมายเลขที่ตามหลังตัวอักษร DIN มักจะไม่สื่อถึงลักษณะใดของโลหะชนิดนั้นเลย ซึ่งในการใช้งานโลหะมาตรฐานจากเยอรมนี จำเป็นต้องมีตำราของเยอรมันเพื่อตรวจสอบประกอบ โดยเฉพาะกลุ่มเหล็กกล้าพิเศษ (Special steels)
-         มาตรฐานจากอังกฤษ กำหนดด้วยอักษร BS (British Standards)
      ประเทศที่สามารถกำหนดสัญลักษณ์เพื่อระบุมาตรฐานทางโลหะชนิดต่างๆ ล้วนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตโลหะกึ่งสำเร็จรูปขนาดใหญ่ (ได้แก่ Semi-finished products, rod steels หรือ steel making) ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นการหลอมจากเตาขนาดกลางและเล็ก การปรับปรุงส่วนผสมทางเคมี และการควบคุมคุณภาพจากเตาหลอมขนาดใหญ่และผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณมาก สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอมากกว่า
      การที่แต่ละประเทศในโลกสามารถผลิตวัตถุดิบด้วยโลหะที่มีส่วนผสมทางเคมี สมบัติ และ วัตถุประสงค์ในการใช้งานใกล้เคียงกัน ทำให้ตลาดวัตถุดิบของอุตสาหกรรมโลหะ ประกอบด้วยโลหะที่ผลิตจากแหล่งผลิตที่หลากหลาย ในที่นี้จะขอแนะนำประเทศที่มีอุตสาหรรมผลิตวัตถุดิบทางโลหกรรมหรืออุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้า (steel-making industry) ที่จักว่าใหญ่ในแต่ละส่วนของโลก เพื่อให้ทราบว่ามีเหล็กกล้ากึ่งสำเร็จรูป (semi-finished product) จำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ในราคาที่แตกต่างกันไป
-         แถบทวีปเอเชีย ได้แก่ วัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น
-         แถบทวีปยุโรปตะวันออก ได้แก่ วัตถุดิบจากประเทศรัสเซียและโรมาเนีย เป็นต้น
-         แถบทวีปยุโรปตะวันตก ได้แก่ วัตถุดิบจากประเทศเยอรมนีและอังกฤษ เป็นต้น
-         แถบทวีปอเมริกา ได้แก่ วัตถุดิบจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
     ส่วนประเทศไทยนั้น มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย (ระดับกลางและย่อม) ได้ทำการกำหนด มาตรฐานเหล็กกล้าของไทยซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร มาตรฐานดังกล่าวนี้ กำหนดขึ้นจากรูปแบบการใช้งานและผลิตภัณฑ์เป็นหลัก โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ เหล็กหัวแดง เหล็กหัวฟ้า หรือเหล็กเพลาขาว เป็นต้น ซึ่งส่วนผสมทางเคมีในแต่ละกลุ่ม มิได้กำหนดไว้อย่างแน่นอน แต่สามารถระบุกลุ่มที่ใกล้เคียงกันได้ และสามารถอ้างอิงได้ใกล้เคียงมาตรฐานเหล็กกล้าของอเมริกาหรือญี่ปุ่นบางเกรดได้เช่นกัน
     ประเด็นสำคัญที่พึงระลึกไว้เสมอก็คือ ตารางแสดงการเปรียบเทียบโลหะระหว่างมาตรฐานหนึ่งไปสู่อีกมาตรฐานหนึ่ง เป็นเพียงการอ้างอิงถึงบางกลุ่ม บางเกรด และบางชนิดของโลหะ ที่ใกล้เคียงกันพอสมควรเท่านั้น ผู้ที่จำเป็นต้องใช้งานสามารถสืบค้นตารางเปรียบเทียบได้จากหนังสืออ้างอิงมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (JIS) เช่น เล่มที่เกี่ยวกับ Ferrous Metallurgy หนังสือรวมมาตรฐานการเปรียบเทียบระหว่างเกรดเหล็กกล้า และตัวแทนจำหน่ายเหล็กและเหล็กกล้าของประเทศเยอรมนี (STAHLSCHLÜSSLE) ซึ่งจะเรียบเรียงไว้ค่อนข้างละเอียด และสามารถค้นคว้าได้ง่าย
     สำหรับตารางเปรียบเทียบค่าความแข็งและความต้านทานแรงดึงของเหล็ก เป็นตารางที่ช่วยในการทำนายสมบัติทางด้านความต้านทานแรงดึงของโลหะได้ด้วยการทดสอบความแข็ง หรือเปรียบเทียบค่าความแข็งจากหน่วยหนึ่งไปอีกหน่วยหนึ่งได้ เนื่องจากข้อกำหนดในการทดสอบความแข็งขอบแต่ละแห่ง เช่น ผู้ผลิตรายหนึ่งต้องการตรวจสอบความแข็งของโลหะที่มีค่ามาตรฐานเป็น HRA (Hardness Rockwell Scale A) แต่ในทางปฏิบัติ เครื่องทดสอบความแข็งที่มี สามารถบอกหน่วยเป็น BHN (Brinell Hardness Number) ได้เพียงอย่างเดียว รวมถึงชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ไม่สามารถทดสอบแรงดึงได้ แต่จำเป็นต้องทราบเพื่ออ้างอิงไปสู่ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ ก็สามารถทดสอบเฉพาะความแข็งและเทียบไปสู่ค่าความต้านทานแรงดึงโดยระบุในตารางดังกล่าวได้ ส่วนค่าที่อยู่ระหว่างจำนวนที่ระบุไว้แต่ไม่ปรากฏในตาราง ก็สามารถหาได้ด้วยการใช้บัญบัติไตรยางค์
      การเลือกหน่วยความแข็งเฉพาะสำหรับโลหะบางชนิดก็มีส่วนสำคัญในการทดสอบ เนื่องจากหน่วยทดสอบความแข็งแต่ละหน่วยจะมีช่วงความแข็งของโลหะที่เหมาะสมต่างกัน เช่น HRC (Hardness Rockwell Scale C) จะมีค่าความแข็งในช่วงที่สูงมาก ในขณะที่ HRB (Hardness Rockwell Scale B) จะมีช่วงความแข็งที่ต่ำ ทำให้การเปรียบเทียบค่าความแข็ง HRC ในช่วงสูง ไม่สามารถเปรียบเทียบเป็น HRB ได้ เป็นต้น ซึ่งในตารางได้ระบุช่วงของค่าความแข็งที่เหมาะสมไว้แล้ว จึงหมายความว่า ค่าที่ไม่แสดงในตารางของหน่วยความแข็งหนึ่ง จัดเป็นค่าที่ไม่สามารถยอมรับได้ในการตรวจสอบนั่นเอง
     สาเหตุที่ตารางเปรียบเทียบค่าความแข็งและความต้านทานแรงดึงถูกกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะกับเหล็กกล้าเท่านั้น เนื่องมาจากความสม่ำเสมอในโครงสร้างจุลภาค หากท่านผู้อ่านมีความคุ้นเคยในเรื่องโครงสร้างจุลภาคของโลหะ จะสังเกตพบว่า ถ้าเหล็กไม่ได้ผ่านขบวนการชุบผิวแข็ง (Surface hardening treatment) โครงสร้างจุลภาคของเหล็กกล้ามักจะมีความสม่ำเสมอ ทั้งในรูปของการเป็นเมทริกซ์ (matrix) ชนิดเดียว หรือมีเมทริกซ์ชนิดผสม เช่น เพอริโต-เฟอริติก (pearito-ferritic) เป็นต้น ซึ่งทำให้การทดสอบสมบัติ ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยการสุ่ม ตัวเลขที่ได้จะสามารถยอมรับถึงค่าตัวแทนของสมบัติโลหะได้ แต่ในทางกลับกัน โลหะผสมนอกกลุ่มเหล็กส่วนใหญ่หรือแม้แต่เหล็กหล่อ ซึ่งไม่สามารถใช้ตารางอ้างอิงดังกล่าวได้ มักจะปรากฏโครงสร้างจุลภาคที่ประกอบด้วยเมทริกซ์และเฟสต่างๆ เสมอ โดยการปรากฏเฟสขนาดเล็กในโครงสร้างจุลภาคก่อให้เกิดความไม่สม่ำเสมอ ทำให้การทดสอบไม่สามารถอ้างอิงค่าตัวเลขที่แท้จริงดังกล่าวได้


ข้อมูลอ้างอิง : วิศวกรรมย้อนรอย (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)
วิสัยทัศน์ : คุณธนาภรณ์ โกราษฎร์