วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์ สาเหตุน้ำท่วม

     จากสถานการณ์น้ำท่วม ในหลายจังหวัด เเละมีผลกระทบเป็นวงกว้าง สาเหตุที่ทุกคนอาจไม่คาดถึง หรือไม่คิดว่าจะมีความเกี่ยวข้องกันกับสาเหตุน้ำท่วม

     จากการวิเคราะห์สาเหตุหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปีนี้มีน้ำท่วมขยายเป็นวงกว้าง ดังนี้ครับ เเม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยเเม่น้ำสายหลัก 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่่งใครๆก็ทราบกัน     เเต่ท่านทราบหรือไม่ว่า
 ร้อยละ 45 ของเเม่น้ำเจ้าพระยานั้น มาจากแม่น้ำน่าน  ลองสังเกตดีๆนะครับ ถ้าปีใดที่จังหวัดน่าน ฝนตกหนัก หรือ น้ำท่วม ซึ่งเขื่อนกั้นเเม่น้ำน่านนั้นคือ เขื่อนสิริกิติ์ และเมื่อเขื่ีอนรองรับน้ำจนเต็มปริมาณการบรรจุ เขื่อนก็ต้องระบายน้ำ เพื่อป้องกันเขื่อนแตก 
     น้ำฝนที่ตกจากจังหวัดน่านทั้งหมดจะถูกปล่อยมาจังหวัดหลังเขื่อนทั้งหมด จึงทำให้พื้นที่จังหวัดภาค
กลางเริ่มทยอยท่วม 
     ซึ่งหากฝนที่จังหวัดน่านไม่หยุดตก ก็จะส่งผลให้น้ำท่วมยังดำเนินต่อไปครับ วิธีแก้ไขปัญหาของน้ำท่วมระยะยาว และยั่งยืนนั้น ต้องปลูกป่าที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านทั้งหมด ฟื้นฟูป่าไม้ที่โดนตัด ถึงจะทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตก มีต้นไม้ดูดซับไว้
     ด้วยพระปรีชาญาณ ขององค์ในหลวง ที่ได้ดำเนินโครงการปิดทองหลังพระขึ้นเพื่อ แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีโครงการดังกล่าวน้ำอาจท่วมมากกว่านี้ หรือส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่านี้ครับ

     กล่าวโดยสรุป สาเหตุก็คือ ป่าไม้ ต้นเเม่น้ำน่าน โดนตัดทำลาย จึงทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ ส่งผลให้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น  จึงทำให้น้ำท่วมปีนี้หนัก เเละขยายเป็นวงกว้าง

ซึ่งที่กล่าวไป อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วม ซึ่งปัจจัยยังมีหลายปัจจัยซึ่งต้องนำข้อมูลหลายๆส่วนมาประกอบกันอีกทีครับ

ที่มาของเเหล่งข้อมูลอ้างอิง
 สถาบันและส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ

ส่วนสาเหตุที่สอง เนื่องจากปีนี้ พายุเข้าเป็นจำนวนมาก เเละเข้ามาเร็วกว่าปรกติ อาทิ พายุนกเต้น พายุนาเเก เป็นต้น  ทำให้เขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้ำที่มาก และระบายน้ำไม่ทัน   ทำให้ฝนในช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำฝนทั้งหมด เขื่อนจึงไม่สามารถกั้นไว้ได้ จึงต้องปล่อยลงมายังพื้นที่หลังเขื่อนทั้งหมด ดังจะเห็นได้ดังข่าวว่า เขื่อนต่างๆเก็บกักน้ำจนถึงขั้นวิกฤติครับ

ส่วนสาเหตุที่สาม เนื่องจากเเต่ละจังหวัดได้ทำการกั้นน้ำ ทำให้เปรียบเสมือนการสร้างเขื่อนขึ้นย่อยๆ สะสมปริมาณน้ำไว้เป็นจำนวนมาก จนพนังกั้นน้ำเเตก และทย่อยท่วมในเเต่ละจังหวัดในภาคกลางครับ

หวังว่าข้อมูลนี้อาจจะช่วยนำไปประกอบการเเก้ไขอุทกภัยในครั้งต่อๆไปได้นะครับ 

เครดิตยกให้ :  Piyapongpom's blog

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แง่มุมทางด้านโลหะวิทยาสำหรับวิศวกรรมย้อนรอย

เอาตัวอย่างชิ้นส่วนมาให้เราสิ เราจะก๊อปปี้ให้เหมือนเปี๊ยบ ให้เหมือนกับมีเครื่องถ่ายสำเนา 3 มิติ ที่ใช้งานได้ตามสะดวก
    สมมุติว่า นี้คือตัวอย่างข้อความโฆษณาจากเว็บไซต์ของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse engineering)
    คำกล่าวเหล่านี้ทำให้ดูเหมือนกับว่าวิศวกรรมย้อนรอยนั้นช่างง่ายดายเหลือเกิน แต่มันง่ายอย่างนั้นจริงๆ หรือ ? การวิเคราะห์รูปร่างและขนาดของชิ้นส่วนเป็นขบวนการที่ค่อนข้างง่าย แต่ สำหรับ โครงสร้าง และ สมบัติ ของชิ้นส่วนนั้นละ ?
    ถ้าหากวิศวกรรมย้อนรอย เป็นเพียงแค่การนำเอาชิ้นส่วนที่มีอยู่เดิมมาทำการลอกเลียนแบบลักษณะพื้นผิวทางเรขาคณิตในระดับมหาภาค แล้วนำไปเก็บเป็นข้อมูล 3 มิติในไฟล์แล้วละก็ ขบวนการนี้ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการให้ชิ้นส่วนต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัยและตรงตามวัตถุประสงค์เดิม ตามเงื่อนไขและข้อบังคับต่างๆ ในการใช้งานแล้วละก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ชิ้นส่วนนั้นจะต้องมีโครงสร้างจุลภาคและสมบัติถูกต้อง ในบทความต่อไปนี้จะกล่าวถึงแง่มุมทางโลหะวิทยากับการพิจารณาทำวิศวกรรมย้อนรอยของชิ้นส่วนโลหะ
    และแน่นอนบทความเพียงบทความเดียวนี้ย่อมไม่สามารถครอบคลุมวัสดุวิศวกรรมทั้งหมดที่สามารถใช้ในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้ บทความนี้จึงมุ่งเน้นไปที่เฉพาะลักษณะทางโลหะวิทยาที่จะเป็นต้องพิจารณาในการผลิตชิ้นส่วนโลหะ นอกจากนี้จะกล่าวถึงอุปสรรคบางประการในการระบุกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสม และประเด็นปัญหาในการผลิตเพื่อให้ได้โครงสร้างที่ยอมรับได้ รวมทั้งปัญหาที่จะเกิดขึ้นถ้าหากชิ้นส่วนที่ผลิตด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอยไม่ได้รับการผลิตในทางโลหะวิทยาอย่างถูกต้อง

แง่มุมทางด้านโลหะวิทยาสำหรับวิศวกรรมย้อนรอยมีอะไรบ้าง ?
      สมบัติของวัสดุใดๆ ก็ตาม จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างของวัสดุนั้น ทั้งส่วนผสมหลักและสารมลทิน และลักษณะเชิงโครงสร้าง จะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเงื่อนไขทางความร้อนและทางกล ในขบวนการผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้าย ในเบื้องต้นสามารถแจกแจงลักษณะเชิงโครงสร้างที่สำคัญสำหรับวัสดุประเภทต่างๆ ได้แก่ โลหะ, เซรามิกส์, พอลิเมอร์, และคอมพอสิต ดังต่อไปนี้

สำหรับ โลหะ ลักษณะที่สำคัญได้แก่
-         ขนาดและรูปร่างของเกรน
-         ชนิด การกระจายตัว และปริมาณข้อบกพร่องแบบต่างๆ ของผลึก ได้แก่ ช่องว่าง (vacancy) ดิสโลเคชัน (dislocation) และการจัดเรียงระนาบผิดพลาด (stacking fault) เป็นต้น
-         ลักษณะการเรียงตัวของเกรนในระนาบหรือทิศทางใดทิศทางหนึ่ง (preferred orientation) หรือที่เรียกว่า เทกซ์เจอร์ (texture)
-         ชนิด ปริมาณ และสัณฐาน (เช่น ขนาด รูปร่าง การกระจาย และลักษณะของผิวสัมผัสกับเนื้อหลัก) ของเฟสที่สอง
-         อินคลูชัน (inclusion) ที่ไม่ใช่โลหะที่มีอยู่ในโครงสร้างจุลภาค
-         โครงสร้างจุลภาคของพื้นผิว กรรมวิธีปฏิบัติต่อพื้นผิว และ การเคลือบผิว เป็นตัน

สำหรับ เซรามิกส์ ลักษณะที่สำคัญได้แก่
-         ขนาดของเกรน
-         ขนาดและรูปร่างของรูพรุนและข้อบกพร่องในโครงสร้างจุลภาค
-         ปริมาณและการกระจายของข้อบกพร่อง
-         พันธะที่เกิดจากขบวนการซินเทอร์ และเนื้อแก้วที่มีอยู่ เป็นต้น
-         การเกิดโครงสร้างจุลภาคที่มีหลายแห่ง

สำหรับ พอลิเมอร์ ลักษณะที่สำคัญได้แก่
-         กลไกการเกิดพอลิเมอร์ และดีกรีของการเกิดพอลิเมอร์
-         โครงสร้างแบบเชิงเส้นหรือโครงข่าย และการจัดเรียงตัวของสายโซ่
-         การครอสลิงค์ การเกิดความแข็งตึงของสาบโซ่ และความเป็นผลึก
-         การเกิดโคพอลิเมอร์
-         สารช่วยการไหล (plasticizer) สารเสริม (filler) หรือตัวเติมอื่นๆ ที่มีอยู่

สำหรับ คอมพอสิต ลักษณะที่สำคัญได้แก่
-         ลักษณะของเมทริกซ์
-         ลักษณะการกระจายของอุนภาคหรือเส้นใยในเมทริกซ์
-         ปริมาณสัมพัทธ์ของตัวเสริมแรงและเมทริกซ์
-         การจัดเรียงตัวของเส้นใย
-         ขนาดและรูปร่างของตัวเสริมแรง
สำหรับวัสดุที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ การออกแบบจะมีผลต่อโครงสร้างและสมบัติขั้นสุดท้ายของชิ้นส่วนวิศวกรรม ตัวอย่างของปัจจัยที่มีผลต่อสมบัติของชิ้นส่วน เช่น
-         ขนาด รูปร่าง ความซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงความหนาของชิ้นส่วน
-         รอยบากที่มีอยู่บนผิวชิ้นส่วน
-         ผิวสำเร็จ
    สมบัติของชิ้นส่วนวิศวกรรมใดๆ จะกำหนดโดยอันตรกิริยาระหว่างสมบัติของวัสดุ การออกแบบชิ้นส่วน และกรรมวิธีการผลิตชิ้นส่วนนั้น
    สำหรับแง่มุมที่สำคัญของโลหะวิศวกรรมที่ใช้ในอุตสาหกรรมลักษณะเชิงโครงสร้าง สามารถแสดงตัวอย่างให้เห็นได้จากภาพจำลองตัวอย่างหมุดยึดที่ทำจากเหล็ก รวมทั้งพันธะโลหะที่ยึดอะตอมของเหล็กล้วนแล้วแต่มีส่วนกำหนดสมบัติทางกายภาพ สมบัติเชิงกล และสมบัติเชิงเคมี ดังภาพ
สมบัติต่างๆ ทั้งหมดนี้ จะเป็นปัจจัยที่กำหนดความสามารถของหมุดยึด คือ
-         ทนต่อความเค้นในระหว่างการใช้งาน
-         ทนต่อสภาพแวดล้อมในระหว่างการใช้งาน
โครงสร้างจุลภาคและการควบคุมโครงสร้างจุลภาค
      ลักษณะทางโครงสร้างจุลภาคของโลหะจะถูกกำหนดโดย
-         ส่วนผสมทางเคมี
-         ลักษณะของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
-         ขบวนการผลิตขั้นต้น เช่น การหล่อ หรือการรีด
-         ขบวนการทางความร้อนและทางกลที่ใช้ในการผลิต จนกระทั่งถึงขบวนการขั้นสุดท้าย
      การตรวจสอบและวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาค สามารถใช้ในการสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิต และตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ โดยการตรวจสอบและวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาคนับเป็นขึ้นตอนที่ขาดไม่ได้ในการควบคุมขบวนการทางโลหะวิทยา การวิเคราะห์ความเสียหาย และในการวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง-กรรมวิธีการผลิต-สมบัติของวัสดุ ดังนั้นการตรวจสอบและวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาคจึงเป็นขึ้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำวิศวกรรมย้อนรอย และสามารถตรวจสอบ, วิเคราะห์โครงสร้างจุลภาคได้โดยใช้เทคนิค replica testซึ่งหน่วยงานผมเองก็ทำมานับเป็นเวลา 6 ปีแล้วครับ
ปัญหาด้านโลหะวิทยาที่ต้องทำความเข้าใจสำหรับการทำวิศวกรรมย้อนรอย
      ถ้าหากสามารถระบุเงื่อนไขทางโลหะวิทยาได้ ก็จะสามารถสรุปกรรมวิธีการผลิตที่จะใช้ในการผลิตชิ้นส่วนหนึ่งๆ ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น คำถามต่อไปนี้จะเป็นคำถามที่มักพบบ่อย ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจและสามารถตอบได้ (โดยการหาลักษณะเฉพาะทางของโลหะวิทยาและโครงสร้างจุลภาค) เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทำวิศวกรรมย้อนรอย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-         โลหะผสมชนิดใดที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนนั้น ? และหน้าสนใจมากแค่ไหน ? มีความพิเศษอย่างไร ?
-         ส่วนผสมทางเคมีคืออะไร ? ส่วนผสมนี้ตรงกับข้อกำหนดมาตรฐานหรือไม่ ?
-         เปอร์เซ็นต์ธาตุตกค้างที่มีอยู่เป็นเท่าไร ? จะส่งผลอย่างไร ? และจำเป็นต้องควบคุมธาตุตกค้างเหล่านั้นให้อยู่ในเกณฑ์ระดับใดถึงจะเหมาะสม ? หรือแม้กระทั้งการพิจารณาเลือกใช้ ?
-         โลหะผสมต้องสะอาดแค่ไหน (หมายถึงปริมาณอินคูลชัน หรือสารฝังใน) และจำเป็นต้องควบคุมระดับความสะอาดเพียงใด ?
-         เงื่อนไขทางโลหะวิทยาของชิ้นส่วนเป็นอย่างไร ?
-         ชิ้นส่วนได้ผ่านการหล่อ, การขึ้นรูปแบบร้อน/เย็น หรือผ่านการอบชุบมาหรือไม่ ?
-         เราสามารถสรุปหาขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างจุลภาคที่เห็นได้หรือไม่ ? เช่น ขนาดรูปร่างของเกรน, เทกเจอร์, อินคูลชัน, เฟสที่สอง, รูพรุน, การแยกตัวขององค์ประกอบทางเคมี, และข้อบกพร่องอื่นๆ อีก อาทิเช่น ข้อบกพร่องที่ผิว ล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานที่จำเป็นสำหรับการไขปัญหาทางโลหะวิทยา
-         ชิ้นส่วนผ่านกรรมวิธีทางวิศวกรรมพื้นผิวหรือการชุบเคลือบผิวมาหรือไม่ ? ถ้าใช่เราสามารถระบุได้หรือไม่ว่าขบวนการที่ใช้คืออะไร ? คำถามข้อนี้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการชุบเคลือบผิวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิต ชิ้นส่วนหลายอย่างจะใช้เนื้อหลักเป็นโลหะผสมที่มีราคาค่อนข้างถูก แต่ใช้การปรับสภาพพื้นผิวให้ทนทานต่อความล้า, การสึกกร่อน และการกัดกร่อน เป็นต้น
หลังจากที่ได้รับระบุชนิดของโลหะผสม เงื่อนไขของเนื้อและผิวของชิ้นส่วน และกรรมวิธีการผลิตที่สามารถใช้ได้แล้ว คำถามต่อไปที่ต้องพิจารณาคือ
-         วัตถุดิบที่เหมาะสมสามารถหาได้ง่ายหรือไม่ ?
-         ถ้าใช่ กรรมวิธีการผลิตที่ต้องการสามารถหาได้หรือไม่ ?
กรรมวิธีการผลิตที่ต้องการจะหมายรวมถึง การอบชุบ การเชื่อม การกัดแต่ง และกรรมวิธีทางวิศวกรรมพื้นผิวที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งคนที่มีความชำนาญในขบวนการดังกล่าวด้วย
ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต
     ถ้าหากจำเป็นต้องผลิตชิ้นส่วนหล่อรูปพรรณ หรือ วัสดุหล่อที่เป็นแท่งอินก็อตหรือสแล็บ (ซึ่งจะนำไปผ่านขบวนการทางกล-ความร้อน ต่อไป) จะต้องมีวัสดุชาร์จและปฏิบัติต่อน้ำโลหะที่ถูกต้อง รวมทั้งมีการเลือกทรายและวัสดุทนไฟ (เช่น วัสดุบุผนังภายในและแบบพิมพ์) อย่างเหมาะสมวัสดุทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะต้องหาได้ง่ายและมีราคาที่เหมาะสม
     เช่นเดียวกับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีโลหะผง และจำเป็นต้องใช้ผงโลหะให้ถูกประเภท สำหรับชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปโดยแรง และ โดยการกัดแต่ง จำเป็นต้องใช้โลหะแผ่นหนา (plate) โลหะแผ่นบาง (sheet) และวัสดุกึ่งสำเร็จที่มีคุณภาพถูกต้อง สำหรับการเชื่อมจะต้องใช้ลวดเชื่อมให้ถูกต้อง สำหรับการอบชุบก็จำเป็นต้องเลือกบรรยากาศการอบชุบให้ถูกต้อง สำหรับการเคลือบผิวก็ต้องเลือกวัสดุเคลือบให้ถูกต้อง
     ถ้าไม่สามารถหาวัตถุดิบในประเทศได้ และจะต้องสั่งซื้อจากประเทศอื่นที่มีค่าเงินแข็งกว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงค่าใช่จ่ายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากค่าวัตถุดิบมักจะสูงกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมด ในบางกรณีอาจจะเป็นไปได้ว่าการผลิตชิ้นส่วนในประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการนำเข้า
     ในสถานการณ์การผลิตใดๆ จะมีการเลือกระหว่างสมรรนะของชิ้นส่วนผลิต ค่าใช้จ่ายของวัสดุและการผลิต และสภาพเศรษฐกิจที่จะสร้างหรือผลิต ผลที่ตามมาก็คือ ถ้าหากไม่สามารถหาวัตถุดิบในอุดมคติได้ การเลือกเช่นนี้อาจเป็นที่ยอมรับได้ แต่ถ้าไม่ลดมาตรฐานด้านความปลอดภัย และ ลูกค้าไม่ได้เข้าใจผิด และผู้ใช้ก็ตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับสมรรถนะและอายุการใช้งาน
      เหตุผลเดียวกันนี้สามารถใช้ได้กับการที่จะเลือกขบวนการผลิตและโรงงานที่จะเป็นผู้ผลิตการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด แต่ใช้ขบวนการผลิตที่มีคุณภาพด้อย จะทำให้ชิ้นส่วนที่ผลิตมีสมรรถนะต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้อายุการใช้งานสั่นลง และอาจจะทำให้ชิ้นส่วนไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ในกรณีนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานจะทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากอาจส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ข้างเคียงและทรัพย์สินอื่นๆ รวมทั้งการเสียเวลาการทำงาน อีกด้วย
      ยกตัวอย่าง เช่น เหล็กกล้าผสมต่ำซึ่งมีคุณภาพไม่ดีนัก ซื้อจากแหล่งจำหน่ายราคาถูก โดยจะนำวัสดุนี้ไปใช้ในการทำวิศวกรรมย้อนรอยสร้างเพลาขับยายพาหนะชนิดหนึ่ง
      สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ เพลาจะต้องทนต่อความล้า และต้องทราบว่าสมบัติด้านการต้านทานความล้าของเหล็กกล้าผสมต่ำเป็นอย่างไร เหล็กกล้านั้นจะสมารถตอบสนองต่อการชุบแข็งและการอบคืนไฟได้ดีเพียงไร ความสะอาดของเนื้อวัสดุ (จำนวน ขนาด และการกระจายตัวของอินคลูชันในเนื้อเหล็ก) และโครงสร้าง สภาพพื้นผิว
      เหล็กกล้าคุณภาพต่ำและมีราคาถูก อาจจะมีส่วนผสมทางเคมีไม่ถูกต้องตามมารฐาน อาจมีธาตุตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสมบัติของวัสดุใช้ทำเพลาในปริมาณมากเกินไป และอาจจะ  สกปก(มีปริมาณอินคูลชันมาก) นอกจากนี้เหล็กกล้าคุณภาพต่ำยังอาจจะมีลักษณะที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ อีก เช่น การแยกตัวขององค์ประกอบทางเคมีในระดับจุลภาค (segregation) และมีรูพรุนเนื่องมาจากอินก็อตหลงเหลืออยู่ เป็นต้น
     แม้ว่าวัสดุนี้จะผ่านขบวนการผลิตตามหลักในตำรา แต่สมบัติเกี่ยวกับความล้าและความต้านทานการแตกหักจะด้อยลงอย่างมาก และอาจนำไปสู่ความเสียหายของเพลาในระหว่างการใช้งานได้
      และที่สำคัญอีกประการคือ ถ้าหากวัสดุนี้ผ่านขบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทุบขึ้นรูปที่อุณหภูมิสูงเกินไป และอบชุบในบรรยากาศที่ทำให้เกิดการสูญเสียคาร์บอนที่ผิว การกัดแต่งผิวไม่เรียบร้อยมีความขรุขระ หรือไม่ได้ผ่านการชุบผิวแข็งด้วยการเหนียวนำทางความร้อน เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในระหว่างการใช้งานอย่างแน่นอน อีกทั้งยังอาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตอีกด้วย ฉะนั้น ชิ้นส่วนที่สร้างหรือผลิตด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอยในอัตราราคาที่ถูก เพียงแค่ปรับลดขั้นตอนบางอย่างลง กลับต้องทำให้เกิดการสูญเสียอันมหาศาลจากการเกิดความเสียหายเนื่องจากการใช้งานได้ในภายหลัง
     ส่วนสุดท้าย ตัวอย่างของเพลาขับและกรณีศึกษาที่ได้กล่าวถึง ล้วนตอกย้ำและเตือนว่า จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องต่อไปนี้อย่างถ่องแท้
-         แง่มุมทางโลหะวิทยาของโลหะผสมที่ใช้เป็นวัตถุดิบ
-         การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสมบัติของโลหะผสมที่ใช้ระหว่างกระบวนการผลิต ภายใต้เงื่อนไขการผลิตต่างๆ จนกระทั้งถึงขั้นตอนสุดท้าย
     ไม่ว่าจะเป็นการทำวิศวกรรมแบบตรง (Forward engineering) หรือวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse engineering) ที่เป็นชิ้นส่วนโลหะ จำเป็นต้องเข้าใจในแง่มุมทางโลหะวิทยาด้วย รวมถึงการควบคุมโลหะที่ใช้ให้ได้โครงสร้างและสมบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ชิ้นส่วนที่สร้างและผลิตนั้นมีสมรรถนะการใช้งานตามต้องการ



ข้อมูลอ้างอิง : วิศวกรรมย้อนรอย (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)
วิสัยทัศน์ : Dr.John T.H. Pearce

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการเชื่อมโลหะใต้น้ำ


บทความนี้จะกล่าวถึงเทคนิคการเชื่อมใต้น้ำมานำเสนอให้ได้ชมกัน ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ
       การเชื่อม นับเป็นวิธีการประสานโลหะที่รวดเร็วและประหยัดที่สุดในการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างประเภทโลหะใต้น้ำ ในสมัยก่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือท่อที่เสียหายใต้น้ำ จะต้องนำขึ้นมาซ่อมแซมที่ผิวน้ำ แต่ปัจจุบันช่างซ่อมสามารถประดาน้ำลงไปเชื่อมซ่อมโลหะในระดับที่ลึกถึง 300 เมตร  ได้แล้ว แต่ทว่าเป็นงานที่ยากและอันตรายมากทีเดียว
       การเชื่อมต้องใช้ความร้อนที่สูงมากถึงขนาดหลอมโลหะเข้าด้วยกันได้  และการเชื่อมด้วยความร้อนดังกล่าวมีหลายวิธี  แต่วิธีการเชื่อมโลหะใต้น้ำใช้ได้วิธีเดียว คือ การเชื่อมด้วยไฟฟ้าชนิด electric are welding การใช้กระแสไฟฟ้าแรงสูงจะทำให้เกิด อาร์ก ซึ่งการที่กระแสไฟเกิดการ อาร์ก ข้ามช่วงห่างระหว่างขั้วไฟฟ้าทั้ง 2 ขั้ว 
       ดังนั้น การเชื่อมโลหะใต้ทะเลได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี ค.. 1802  เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวี  ค้นพบว่ากระแสไฟฟ้าสามารถสร้างเปลว อาร์ก ต่อกันใต้น้ำได้  ถึงแม้ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีการใช้วิธีนี้ซ่อมเรือเป็นการชั่วคราว  ต่อมาเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในทศวรรษ 1970  เมื่อมีงานซ่อมแซมแท่นขุดเจาะน้ำมันและท่อส่งก๊าซเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
     การเชื่อมโลหะใต้น้ำ มี 2 วิธี คือ 
วิธีที่ 1 การเชื่อมแบบเปียกในน้ำ (wet water welding)  คือใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ให้กำลังไฟประมาณ 500 แอมแปร์  ซึ่งอยู่ที่ผิวน้ำ  ส่งกระแสไฟตามสายเคเบิลที่หุ้มฉนวนพิเศษไปยังขั้วไฟฟ้าของช่างเชื่อมใต้น้ำ ซึ่งขั้วไฟฟ้านั้นเคลือบซิลิโคนหรือสีกันน้ำ  เพื่อป้องกันกระแสไฟรั่วในน้ำ
     แต่การเชื่อมแบบเปียกในน้ำมักมีปัญหาใหญ่คือ  น้ำจะทำให้โลหะแนวเชื่อมเย็นลงอย่างรวดเร็ว  มีผลทำให้แนวเชื่อมแข็งและเปราะ  เมื่อน้ำโดนความร้อนจากการเชื่อมจะเกิดแก๊สออกซิเจนและไฮโดรเจนขึ้น  แก๊ส 2 ชนิดนี้จะซึมผ่านรอยเชื่อมเข้าไปขณะที่ยังร้อน ทำให้รอยเชื่อมเปราะยิ่งขึ้น
     ข้อจำกัดอีกประการหนึ่ง  คือไม่สามารถทำได้ที่ความลึกเกินกว่า 90 เมตร  เนื่องจากแรงกดดันของน้ำมากเกินกว่าที่กระแสไฟฟ้าจะเกิดเปลวอาร์กได้
วิธีที่ 2 การเชื่อมแห้งในถังครอบ (dry chamber welding)  สามารถใช้กับการเชื่อมใต้น้ำที่มีความลึกมากกว่าและทำให้รอยเชื่อมมีคุณภาพดีกว่า  แต่เสียค่าใช้จ่ายสูง
     วิธีการ คือ ใช้ถังหรือครอบพลาสติกใสที่แข็งแรงทนทานครอบพื้นที่ซึ่งจะเชื่อมไว้  แล้วไล่น้ำออกโดยเป่าลมจากถังอัดอากาศเข้าไปในถังนั้น  เพื่อให้ลบริเวณตำแหน่งที่จะทำการเชื่อมปราศจากน้ำและแห้งพอประมาณ ด้านล่างของถังจะเปิดเพื่อให้ช่างสามารถใช้หัวเชื่อมสอดเข้าไปทำงานได้  อากาศในถังจะกันไม่ให้น้ำเข้า  บางครั้งควันและไอน้ำซึ่งเกิดจากการเชื่อมอาจเป็นอุปสักต่อการมองเห็นของช่างเชื่อม
     และถ้าเป็นกรณีที่เป็นงานเชื่อมที่ยากและอันตรายขึ้นอาจใช้วิธี การเชื่อมในถังครอบความดันสูง (high pressure chamber)  ซึ่งเป็นถังขนาดใหญ่พอที่จะให้ช่างเชื่อมเข้าไปอยู่ข้างในได้ทั้งตัว  วิธีนี้ใช้ได้ผลดีพอ ๆ กับการเชื่อมบนบก  แต่สิ้นเปลืองมากเพราะต้องออกแบบสร้างถังขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ  เพื่อให้ครอบเนื้อที่ท่อส่งน้ำมัน หรือข้อต่อที่ต้องการซ่อมได้พอดี  ทั้งยังต้องอุดรอยรั่วในน้ำเข้าถังซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน  และต้องใช้เรือหนุนช่วยอย่างน้อย 1 ลำ  พร้อมด้วยเรื่อปั้นจั่นสำหรับหย่อนถังลงไปและยกกลับขึ้นมา
     บางถังอาจมีขนาดใหญ่มากพอใช้ช่างหลายคนเข้าไปทำงานและพักผ่อนระหว่างการทำงานด้วย  ถังแบบนี้ใช้กับน้ำลึกตั้งแต่ 300 เมตร ขึ้นไป
     เมื่อ ขุดเจาะน้ำมันลึกลงไป  ก็จำต้องเชื่อมซ่อมโลหะใต้ทะเล ที่ระดับความลึกมากขึ้นเท่านั้น และอาจลึกถึง 600 เมตร  ซึ่งปัจจุบัน บันดาวิศวกร หวังว่าอีกไม่นานก็จะสามารถใช้เทคนิค การเชื่อมแห้งในถังครอบ ที่ใช้สำหรับน้ำลึกได้  แต่การเชื่อมระดับลึกมาก ๆ ขนาดนั้นคงต้องใช้หุ่นยนต์ควบคุมจากระยะไกลทำงานแทนช่างเชื่อม เนื่องจากมนุษย์เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำโดยกะทันที่ระดับความลึกทำให้ร่างกายปรับสภาพความดันของโลหิตหรือกระแสเลือดไม่ทัน ทำให้เกิดการการช็อกหรือน็อกน้ำทำให้เสียชีวิตได้
    บุคคลผู้ปฏิบัติงานลักษณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผ่านการฝึกเป็นพิเศษและเฉพาะทาง เนื่องจากมีความเสี่ยงอันตรายสูง อย่างไรก็ตามเทคนิคงานซ่อมและงานสร้างด้านวิศวกรรมยังคงต้องพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความปลอดภัย ในอนาคตต่อไป ขอบคุณครับ

เชิญชมคลิปตัวอย่างครับ