วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

วิศวกรรมย้อนรอยคืออะไร ?

      วิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) เป็นขบวนการสร้า้งและผลิตชิ้นส่วน  อุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นเอง แต่บางคนอาจจะมีแนวความคิดที่ว่าเป็นการ เลียนแบบชิ้นส่วนเดิมที่เสียหาย แต่แท้จริงแล้วการทำวิศวกรรมย้อนรอยที่ดีต้องอาศัยการตรวจสอบข้อมูลทางเทคนิคและอื่นๆ เปรียบเทียบระหว่างชิ้นส่วนที่กำลังจะสร้า้งขึ้นใหม่ กับชิ้นส่วนต้นแบบ ดังนั้น การทำวิศวกรรมย้อนรอยอย่างเต็มรูปแบบจึงเกี่ยวข้องกับการสืบค้นหาข้อมูลทางเทคนิค การย้อนรอยขนาดและรูปร่างของต้นแบบ วัสดุและกรรรมวิธีการผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้น การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เป็นอุปกรณ์หรือระบบ รวมทั้งการตรวจสอบสมบัติ และพัฒนาสมรรถนะทั้งในระหว่างการผลิตและระหว่างการใช้งาน ซึ่งผลที่ออกมาจะดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าเป็นการ ลอกเลียน หรือ ลอกเรียน อันนี้ก็ลองพิจารณาเลือกทำความเข้าใจกันเอาเองนะครับ

วัตถุประสงค์ของการทำวิศวกรรมย้อนรอย
        ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมได้ให้ความสนใจกับการทำวิศวกรรมย้อนรอย เนื่องจากเหตุผลตามสภาพธุรกิจ และความจำเป็นต่างๆ กัน เช่น
-         ต้องการ แกะผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากที่อื่น เช่น จากบริษัทคู่แข่งหรือจากบริษัทต่างประเทศ เพื่อศึกษาว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการออกแบบและผลิตมาอย่างไร
-         ต้องการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเองที่มีอยู่ แต่เนื่องจากไม่มีแบบและรายละเอียดข้อกำหนดทางเทคนิคที่ไม่ครบถ้วน
-         ต้องการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ใช้แทนชิ้นส่วนเดิมซึ้งเกิดความเสียหาย เนื่องจากผู้ผลิตไม่ได้ทำการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวอีกต่อไป หรือ เนื่องจากชิ้นส่วนของแท้จากต่างประเทศมีราคาแพง รวมทั้งการจัดส่งล่าช้า ทำให้ไม่ทันต่อความจำเป็นในการใช้งาน
     ใน 2 กรณีแรกนั้น จุดมุ่งหมายของการทำวิศวกรรมย้อนรอยคือ การผลิตภัณฑ์ในปริมาณมากเพื่อผลในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนกรณีสุดท้ายนั้น จุดมุ่งหมายคือ การผลิตอะไหล่ทดแทนเนื่องจากความจำเป็นบังคับ โดยมีผลพลอยได้คือ ความรู้ความเข้าใจ, ความสามารถในการผลิต, ตรวจสอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สร้างขึ้น รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลอื่นๆ และปรับปรุงชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น หากมีการพัฒนาความรู้ความชำนาญอย่างต่อเนื่อง ก็อาจนำไปสู่งานวิศวกรรมย้อนรอยชิ้นส่วนเครื่องจักรเพื่อการจำหน่ายได้ในที่สุด
     แต่ไม่ว่าจะทำวิศวกรรมย้อนรอยด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นนี้มีสมรรถนะเหมาะสมตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน อีกทั้งยังสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ตลอดช่วงอายุการใช้งาน

การดำเนินการเพื่องานวิศวกรรมย้อนรอย
      การผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยขบวนการทางวิศวกรรมย้อนรอยที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้น บ่อยครั้งจะพบปัญหาที่ว่า ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนั้นไม่ได้คุณภาพตามวัตถุประสงค์การใช้งาน หรือตามสมรรถนะของชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุหลักได้แก่ การที่ผู้ประกอบการยังไม่มีระบบการศึกษาย้อนกลับถึงข้อมูลที่สำคัญของชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในรายละเอียดได้แก่ การออกแบบทางวิศวกรรม สมบัติทางวัสดุ กรรมวิธีการผลิต และสภาพเงื่อนไขการใช้งาน เป็นต้น
      ข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการกำหนดความเหมาะสม สำหรับการนำไปใช้ทดแทนชิ้นส่วนที่ทำขึ้นใหม่ ดังนั้น กระบวนการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรให้มีคุณภาพตามต้องการด้วยการทำวิศวกรรมย้อนรอยอย่างถูกต้อง จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่สำคัญดังนี้
-         ข้อมูลชิ้นงานเดิม เช่น ความจำเป็นเร่งด่วน ราคา และสมบัติต่างๆ จากผู้ผลิต ข้อมูลเหล่านี้อาจได้จากผู้ผลิตหรือจากประสบการณ์ของผู้ใช้โดยตรง
-         ข้อมูลวัสดุที่ใช้ เช่น ชนิด สมบัติการใช้งาน มาตรฐานคุณภาพ และราคา ข้อมูลเหล่านี้อาจได้จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเลือกใช้วัสดุที่มีสมบัติและความเหมาะสมกับชิ้นส่วนเดิมหรือใกล้เคียงกัน
-         ขั้นตอน กรรมวิธี และความเป็นไปได้ในการขึ้นรูป
-         การปรับปรุงคุณภาพภายหลังขั้นตอนการขึ้นรูป ได้แก่ การปรับปรุงพื้นผิว การอบชุบ และการเคลือบผิว เป็นต้น
-         การตรวจสอบคุณภาพภายหลังการผลิตแต่ละขั้นตอน โดยการตรวจสอบมีทั้งแบบทำลาย (DT) และไม่ทำลาย (NDT)
-         การติดตามผลการใช้งาน เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ ต่อไป
-         การวิจัยและพัฒนา ในกรณีที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานให้สูงกว่าต้นแบบ

   การดำเนินงานทางวิศวกรรมย้อนรอยเป็นการผสมผสานความรู้จากงานวิศวกรรม (การออกแบบและผลิต) กับความรู้จากงานอุตสาหกรรม (ความหลากหลายของขบวนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและธุรกิจ) เนื่องจากระบบเครื่องจักรในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทประกอบด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ดังนั้น การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของอุตสาหกรรมและวิศวกรรมที่หลากหลาย จะสามารถช่วยให้ผู้ดำเนินการมีความเข้าใจปัญหาของการสร้างอะไหล่ หรือชิ้นส่วนเครื่องจักรได้กว้างขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะต้องน้ำมาแลกเปลี่ยน รวบรวม และบูรณาการทางความคิด เพื่อให้การผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ชิ้นใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
    กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีปริมาณการผลิตสูงและมีระบบเครื่องจักรที่ควรแก่การศึกษา เช่น อุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้า, อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล, อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น
   ตัวอย่างความเชื่อมโยงของข้อมูล และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างอุตสาหกรรม
-         งานซ่อมบำรุงอุปกรณ์สำหรับใช้งานที่ต้องการความทนทานต่อการสึกหรอของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีความคล้ายกับระบบเครื่องจักรหลักบางชนิดในอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์
-         งานบำรุงรักษาระบบผลิตไอน้ำจากหม้อไอน้ำ (boiler) ในอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่งมีความคล้ายคลึงกัน ความรู้ในการบำรุงรักษาหม้อไอน้ำที่มีความซับซ้อนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สามารถถ่ายทอดและประยุกต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งมีเทคโนโลยีซับซ้อนน้อยกว่า

การเลือกวัสดุเพื่องานวิศวกรรมย้อนรอย
     การเลือกใช้วัสดุมีความสำคัญต่อการทำงานวิศวกรรมย้อนรอยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมบัติของชิ้นส่วนจำเป็นจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในการใช้งานและขบวนการผลิต นั้นหมายถึง วัสดุหรือวัตถุดิบที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อทำวิศวกรรมย้อนรอยชิ้นส่วนหนึ่งๆ จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งาน สมบัติของวัสดุสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จาก ข้อมูลของผู้ผลิตต้นแบบหรือจากการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ หรือเทคนิคพิเศษ เช่น การตรวจส่วนผสมทางเคมี และโครงสร้างจุลภาค โดย replica test แล้วเปรียบเทียบหา เป็นต้น
     เกณฑ์การเลือกวัสดุเพื่อการทำวิศวกรรมย้อนรอยแบ่งคร่าวๆ แบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ การเลือกวัสดุตามมาตรฐาน และ การเลือกวัสดุตามสภาวะการใช้งาน

-         การเลือกวัสดุตามมาตรฐาน
    ในบางกรณี สามารถเลือกใช้วัสดุและกรรมวิธีการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการทำวิศวกรรมย้อนรอยได้จากข้อมูลที่ระบุไว้ในแบบ หรือข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารมาตรฐานสากลต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ติดสินใจจำเป็นต้องมีความคุ้นเคยกับการใช้งานของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และมีความเข้าใจในข้อมูลที่ระบุไว้ในแบบหรือตามมาตรฐานว่า สามารถใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขและสภาวการณ์อย่างไรบ้าง
     นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิต กรรมวิธีทางโลหะวิทยา และการตรวจสอบ ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากแบบและมาตรฐานมักจะระบุสมบัติและสมรรถนะของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องของขบวนการซ่อมและตรวจสอบที่เกี่ยวข้องมากนัก อันนี้ต้องมีแนวคิดและเทคนิคการประยุกต์เข้าไปเป็นส่วนเสริมก็จะสามารถมองงานได้กว้างขึ้น

-         การเลือกวัสดุตามสภาวะการใช้งาน
บางครั้งไม่สามารถพิจารณาข้อมูลการออกแบบการผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ได้ครบขั้นตอน ทำให้ชิ้นงานที่ผลิตนั้นมีอายุการใช้งานสั่นกว่าที่ควรจะเป็น หรือบางครั้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของการใช้งานเครื่องจักร ทำให้ชิ้นส่วนที่ผลิตด้วยข้อกำหนดเดิมไม่สามารถรองรับระบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปได้ จำเป็นต้องตรวจสอบสภาวะแวดล้อมทั้งหมด เพื่อปรับปรุงวัสดุและขบวนการผลิตครั้งใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
สภาวะแวดล้อมและการใช้งานที่เป็นปัจจัยกำหนดการเลือกใช้วัสดุ ดังนี้ เช่น
-         การใช้งานในสภาวะรับแรง (ทั้งที่หยุดนิ่งและเคลื่อนที่)
-         การใช้งานในสภาวะอุณหภูมิสูง
-         การใช้งานในสภาวะที่เกิดการสึกหรอ
-         การใช้งานในสภาวะที่เกิดการกัดกร่อน
-         การใช้งานในสภาวะที่เกิดการกัดกร่อนหรือสึกหรอร่วมกับอุณหภูมิสูง
-         การใช้งานในสภาวะที่รับแรงกระแทกและสึกหรอ เป็นต้น
ตัวอย่างการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น
-         เพลา (shaft) : ออกแบบเพื่อให้ถ่ายทอดกำลังจากการหมุน และทนต่อแรงบิด
-         ท่อไอน้ำ (boiler tube) : ออกแบบเพื่อให้รับอุณหภูมิและแรงดันจากไอน้ำ
-         ลูกรีด (roller mill) : ออกแบบเพื่อทนต่อแรงสึกหรอ
-         สิ้นส่วนที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี (โรงปิโตรเคมี) : ออกแบบเพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อน
-         ฟันโม่และเล็บขุด : ออกแบบเพื่อทนการกระแทกและการสึกหรอ
-         ใบพัดกังหันไอน้ำ (turbine blade) : ออกแบบให้ทนอุณหภูมิและการกัดกร่อนสูง
     จากที่กล่าวมา การทำวิศวกรรมย้อนรอยชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์เป็นงานที่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทันเวลา แต่ทั้งนี้คุณภาพของงานต้องใกล้เคียงหรือดีกว่าของเดิมด้วย โดยรวมแล้วหากผู้ผลิตสามารถเสริมสร้างศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ทดแทนได้จนเป็นที่ยอมรับ ก็จะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมไทยที่สมบูรณ์ขึ้น ลดการพึ่งพาต่างชาติ และอาจนำไปสู่การเป็นผู้นำของงานวิศวกรรมย้อนรอย และการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เองได้ในอนาคต
ตัวอย่างการผลิตอะไหล่ Impeller 



ที่มา : www.youtube.com

     บทสรุปสุดท้าย วิชาความรู้ของศาสตร์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรม และอื่นๆ อีกมากมายบนโลกนี้ สามารถแตกแขนงแบ่งออกเป็นเรื่องราวย่อยได้อีกนานับประการไม่มีวันจบสิ้น โดยมักมีความเกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผู้ที่จะสามารถมองได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกันได้นั้นจำเป็นต้องมี วิธีคิด, มุมมองที่สร้างสรรค์, จิตนาการ, ความรู้ และการรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์คุ้มค่า สิ่งเหล่านี้ต้องประสานสัมพันธ์กัน  ก่อให้เกิดแนวความคิดเปรียบเหมือนตาข่ายแห่งความรู้ที่ยังรอการถักทอเชื่อมต่อให้แผ่ขยายต่อๆ ไป จึงฝากเรียนไว้เพื่อเป็นการจุดประกายด้านการพัฒนาความคิด ขอบคุณครับ
    


ข้อมูลอ้างอิง : วิศวกรรมย้อนรอย (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)
วิสัยทัศน์ : คุณสมศักดิ์ นิมิตรยนต์ (ประธาน, กรรมการ บริษัท ภากร เทคนิคอล เซอร์วิส จำกัด)

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

การตรวจสอบชนิดของวัสดุโลหะด้วยการพิจารณาประกายไฟ

     วัสดุโลหะแต่ละชนิดจะมีส่วนผสมทางเคมีที่แตกต่างกัน ถ้านำไปเจียระไนกับหินเจียระไนจะเห็นเป็นประกายไฟพุ่งออกมา เพราะส่วนผสมทางเคมีต่างๆ ในโลหะ เมื่อเสียดสีกับหินเจียระไนจะเกิดความร้อนสูง และเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศจะลุกไหม้ หรือเปลี่ยนสภาพเกิดเป็นสี และประกายไฟในลักษณะต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงชนิดของเหล็กอย่างคร่าวๆ โดยการสังเกตรูปร่างลักษณะและสีของประกายไฟ (Spark test) ดังนั้น บทความต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ วิธีการตรวจสอบชนิดของโลหะด้วยการพิจารณาประกายไฟ โดยเป็นวิธีที่ง่ายและสามารถใช้พิจารณาเฉพาะหน้า หากต้องการทราบข้อมูลเพื่อการดำเนินงาน การซ่อม, สร้าง, หรือตรวจสอบชิ้นส่วน กรณีเร่งด่วนหน้า site งาน ซึ่งไม่สามารถทราบชนิดของกลุ่มโลหะชนิดนั้นๆ ได้อย่างแน่ชัด
คำแนะนำเบื้องต้นในการสังเกตประกายไฟ
-         ในกรณีที่จำแนกสีได้ยาก ให้สังเกตรูปร่างของประกายไฟเป็นหลัก
-         วัสดุแต่ละชนิดอาจจะมีประกายไฟได้หลายสี และมีรูปร่างของประกายไฟได้หลายลักษณะ
พิจารณาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประกายไฟเบื้องต้น
เพื่อความเข้าใจและทราบถึงรูปแบบ และลักษณะรูปร่างของประกายไฟที่เกิดขึ้นพิจารณาดังนี้


ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างลักษณะรูปร่างประกายไฟที่ได้มีการทดสอบและบันทึกเป็นข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบกลุ่มโลหะ ดังต่อไปนี้
เหล็กกล้าคาร์บอน
     ลักษณะประกายไฟของเหล็กกล้าคาร์บอน ถ้าผสมคาร์บอนยิ่งมากยิ่งจะมีประกายไฟสว่างมาก และจะมีประกายไฟเหมือนกิ่งไม้มากขึ้นด้วย พิจารณาภาพประกอบ 

เหล็กกล้าผสมต่ำ กลุ่ม โครเมียม-นิเกิล-โมลิบดินั่ม
      เป็นกลุ่มเหล็กที่มีความสำคัญและใช่กันอย่างแพร่หลาย เมื่อมีโครเมียม, นิเกิล, และโมลิบดินั่มผสมสมอยู่ เกณฑ์การตัดสินจะอยู่ที่การพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอน และประกายไฟที่แสดงให้เห็นถึงนิเกิล คือ ประกายไฟหนาสีขาว จากประกายพื้นฐาน ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดการแยกตัวของประกายไฟ ซึ่งเรียกว่า หยกนิเกิล ที่เกิดขึ้นตรงปลายของประกายไฟ การฝึกสังเกตประกายไฟหนาสีขาวนี้จะต้องใช้เวลานานเพื่อที่จะให้เกิดประสบการณ์ พิจารณาภาพประกอบ 

     สรุปเพิ่มเติม โลหะเหล็กกล้าผสมต่ำ กลุ่ม โครเมียม-นิเกิล-โมลิบดินั่ม จากประกายไฟที่ปรากฏจะมีอธิพลของปริมาณคาร์บอนและโครเมียมอย่างมาก นั้นคือ เมื่อผสมโครเมียมเพิ่มขึ้น จะทำให้ประกายไฟรวมมีความสว่างน้อยลง โดยจะเปลี่ยนไปเป็นสีค่อนข้างแดง-เหลือง ซึ่งประกายไฟที่แยกออกมาจะมีปลายเรียวเป็นปกติ
เหล็กกล้าชุบแข็งในน้ำหรือน้ำมัน
   เหล็กกล้าที่ชุบแข็งในน้ำหรือน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทำชิ้นเครื่องมือทนแรงกระแทก และปริมาณซิลิคอนที่ผสม จะแสดงให้เห็นถึงประกายไฟสว่างจัดบริเวณต้นลำแสง ขณะเดียวกันลำแสงที่แยกตัวออกจะน้อยและเป็นหยดให้เห็นแม้กระทั้งปริมาณวุลแฟรมที่ผสมอยู่จะปรากฏเป็นลำแสงสีแดงให้เห็นชัดเช่นกัน

สรุปเพิ่มเติม ปริมาณวุลแฟรมและโครเมียมที่ผสมมากขึ้นจะทำให้เกิดความแข็งในเหล็กกล้าผสม แต่ประกายไฟจะลดน้อยลงตามอัตราส่วนผสมที่เพิ่มขึ้น และการแยกตัวของลำแสงน้อยมาก
หมายเหตุ : การตรวจสอบและพิจารณาด้วยประกายไฟ ยังมีขีดจำกัดทางด้านการบอกปริมาณเปอร์เซ็นต์ที่แน่ชัด กรณีไม่ทราบขอมูลของวัสดุกลุ่มโลหะชิ้นนั้นเลย เป็นเพียงการคาดคะเน และเป็นการตรวจสอบพิจารณาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่มีประโยชน์มากสำหรับการตรวจสอบ replica test เนื่องจากบางกรณีไม่ทราบชนิดกลุ่มของโลหะชนิดนั้นเลย แต่ต้องทำการเลือกกำหนดสารเคมีเพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างจุลภาค ณ เวลาเร่งด่วน วิธีตรวจสอบและพิจารณาด้วยประกายไฟจึงเป็นวิธีพื้นฐาน ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ง่ายที่สุด อันนี้ประสบการตรงครับ แต่ต้องสังเกตและใช้ประสบการณ์พอสมควรครับ อย่างไรก็ตามหากต้องการทราบถึงปริมาณเปอร์เซ็นต์ส่วนผสมทางเคมีที่แน่นอนชัดเจน ควรพิจารณาเลือกใช้วิธีตรวจสอบให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และหากต้องการความชัดเจนและแม่นยำ  ควรใช้วิธี วิธีอิมิชชันสเปกโทรเมทรี (Emission spectrometry) ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทราบถึงปริมาณเปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมเคมีทางโลหะ และมีความแม่นยำสูง แต่มีราคาค่อนข้างแพงตามไปด้วย ประกอบกับต้องตัดเตรียมชิ้นงานทดสอบให้เหมาะสม และใช้เวลานาน ยังไงก็ลองพิจารณากันดูนะครับ ขอบคุณครับ

ข้อมูลอ้างอิง : http://en.wikipedia.org/wiki/Spark_testing#cite_note-davis-1
งานทดสอบวัสดุอุตสาหกรม (อ.มานพ ตันตระบัณฑิตย์)